อาคารควรค่าแก่การอนุรักษ์

บ้านเสานัก

บ้านเสานัก

ที่ตั้ง เลขที่ 86 ถนนป่าไม้ ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง

ผู้ครอบครอง ฌาดา ชิวารักษ์ และ พิมพ์จักร ชิวารักษ์

ปีที่สร้าง พ.ศ. 2438

ปีที่ได้รับรางวัล พ.ศ. 2548

ประวัติ

          บ้านเสานัก สร้างขึ้นโดยหม่อมจันโอง ต้นตระกูลจันทรวิโรจน์ ต่อมาบ้านเสานักตกทอดมาถึงคุณหญิงวลัย ลีลานุชอดีตผู้อำนวยการโรงเรียนลำปางกัลยาณี ซึ่งเป็นหลานตาของหม่องจันโอง ท่านได้ทำการซ่อมแซมปรับปรุงบ้านเสานัก โดยพยายามอนุรักษ์รูปแบบเดิมไว้มากที่สุด ภายหลังจากที่คุณหญิงวลัยถึงแก่อนิจกรรม ในปี พ.ศ.2535 บ้านเสานักจึงไม่มีผู้อาศัยอยู่ ต่อมาคุณฌาดา ชิวารักษ์ ได้สืบทอดเจตนารมณ์โดยดูแลรักษาบ้าน ปัจจุบัน ได้จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ทางศิลปวัฒนธรรมของจังหวัดลำปาง และใช้เป็นสถานที่จัดขันโตกและงานพิธีมงคล

          บ้านเสานัก เคยเป็นที่ประทับเสวยพระกระยาหารกลางวันและพักผ่อนพระอิริยาบถของพระบรมวงศานุวงศ์ ชื่อ บ้านเสานัก ได้รับการขนานนามโดย หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ เนื่องจากเป็นบ้านไม้ที่มีเสาไม้สักมากถึง 116 ต้น (ตามภาษาพื้นเมืองนัก มีความหมายว่า มาก) นอกจากนี้ท่านยังได้เผยแพร่คุณค่าของบ้านหลังนี้ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายอีกด้วย บ้านเสานักได้รับพระมหากรุณาธิคุณซึ่งนับเป็นเกียรติอย่างสูงสุด 2 ครั้ง คือ วันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2520 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฏราชกุมาร พร้อมด้วยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จมาประทับเสวยพระกระยาหารกลางวัน และประทับพักผ่อนพระอิริยาบถ เมื่อครั้งเสด็จประพาสจังหวัดลำปาง และวันที่ 12 กุมภาพันธ์พ.ศ. 2522 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จมาประทับเสวยพระกระยาหารกลางวัน และประทับพักผ่อนพระอิริยาบถในโอกาสที่เสด็จมาเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอาคารสรรพประสงค์สุดา โรงเรียนลำปางกัลยาณี

          ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บ้านเสานัก ได้รับการอนุรักษ์เป็นอย่างดี สามารถรักษาคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และสถาปัตยกรรมไว้ได้ เป็นตัวอย่างของเรือนหมู่ขนาดใหญ่ที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างศิลปะพม่ากับล้านนาโดยหลังคาและโครงสร้างบ้านเป็นแบบล้านนา ส่วนระเบียงรอบบ้านเป็นพม่า นอกจากนี้ยังมีการรักษาต้นสารภีอายุร้อยกว่าปีและยุ้งข้าวโบราณที่มีเสารองรับ 24 ต้น บริเวณหน้าเรือนอีกด้วย