อาคารควรค่าแก่การอนุรักษ์

อาคารที่ทำการพัสดุการรถไฟแห่งประเทศไทย

อาคารที่ทำการพัสดุการรถไฟแห่งประเทศไทย

ที่ตั้ง ถนนพระรามหนึ่ง แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร

สถาปนิก/ผู้ออกแบบ หลวงสุขวัฒน์สุนทร วิศวกรของกรมรถไฟ

ผู้ครอบครอง การรถไฟแห่งประเทศไทย

ปีที่สร้าง พ.ศ. 2471 – 2474

ปีที่ได้รับรางวัล พ.ศ. 2549

ประวัติ

แต่เดิมนั้น อาคารคลังพัสดุของกรมรถไฟหลวงมีอยู่กระจัดกระจายและไม่อยู่เป็นศูนย์เดียวกัน ดังนั้นจึงมีดำริที่จะก่อสร้างอาคารพัสดุกลางที่ยศเสขึ้น การก่อสร้างเริ่มต้นในปี พ.ศ.2471 งานตอกเสาเข็มและงานรากฐานแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2472 หลังจากนั้นจึงเริ่มงานโครงสร้างประธานของอาคารพัสดุกลาง อาคารพัสดุกลางหลังนี้ก่อสร้างเสร็จ และเปิดทำการในวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2474 หลังจากนั้นมีการรื้อถอนอาคารคลังพัสดุต่างๆ ได้แก่ อาคารพัสดุกลางหลังเดิม คลังไปรษณีย์โทรเลข คลังพัสดุสิ่งของคืน คลังพัสดุยศเสเดิม คลังพัสดุเครื่องมือสำรวจ คลังพัสดุกองโรงแรม และคลังพัสดุโทรเลข จากนั้นก็มีการโยกย้ายเปลี่ยนแปลงกองและสำนักงานต่างๆ ในอาคารพัสดุกลางหลังใหม่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อาคารหลังนี้เคยใช้เป็นที่ทำการกรมรถไฟหลังจากที่อาคารกรมรถไฟโดนระเบิดทำลาย ต่อมาในปี พ.ศ. 2494 ได้มีการต่อเติมปีกอาคารทั้งสอง (อาคารทิศเหนือ และอาคารทิศใต้) ให้เป็นตึก 3 ชั้น เหมือนอาคารด้านหน้า (อาคารทิศตะวันตก) ในช่วงนั้นระหว่างอาคารทั้ง 3 เป็นลานคอนกรีตขนาดใหญ่สำหรับขนถ่ายสินค้าที่จะเข้ามาเก็บในคลัง สร้างเป็นรางรถไฟจากทิศเหนือวิ่งตัดทะลุเข้ามาในตัวตึกส่วนที่เป็นคลังพัสดุทั้ง 2 ปีกเส้นหนึ่ง อีกเส้นหนึ่งวิ่งจากทิศตะวันออกตัดฉากกับรางแรกมาจ่ออยู่หน้าอาคารทิศตะวันตก จุดตัดของรางรถไฟทั้ง 2 เส้น ทำเป็นแป้นกลมหมุนได้สำหรับปรับรางให้เปลี่ยนแกนได้ ปัจจุบัน อาคารที่ทำการพัสดุใช้เป็นที่ทำงานของหน่วยงานต่างๆ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย และลานคอนกรีตขนาดใหญ่ใช้เป็นที่จอดรถ ผังพื้นอาคารที่ทำการพัสดุเป็นรูปตัวยู (U) รูปแบบทางสถาปัตยกรรมเป็นแบบโมเดิร์น โครงสร้างอาคารเป็นระบบเสาและคานคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคาอาคารทิศตะวันตกเป็นหลังคาทรงปั้นหยา เหนือหลังคาปั้นหยามีหลังคาจั่วอีกชั้นหนึ่งเพื่อระบายอากาศ ส่วนหลังคาอาคารทิศเหนือ และอาคารทิศใต้เป็นหลังคาคอนกรีตแบนผสมกับหลังคาปั้นหยา เหนือหลังคาปั้นหยามีหลังคาจั่วอีกชั้นหนึ่งเพื่อระบายอากาศเช่นกัน จุดเด่นของอาคารอยู่ที่ผนังภายนอกทั้งหมดก่ออิฐเปิดผิว ยกเว้นชั้น 2 และ 3 ของอาคารทิศตะวันตกเป็นผนังโครงและฝาไม้ มีระเบียงทางเดินยาวไปตลอดแนวอาคารทั้งด้านหน้าและด้านหลังของอาคาร พื้นอาคาร ทิศตะวันตกเป็นพื้นไม้เทคอนกรีต ทับหน้าวางบนตงเหล็ก ช่องประตูหน้าต่างเป็นกรอบสี่เหลี่ยมเรียบง่าย มีทั้งขนาดปกติและขนาดใหญ่แล้วแต่พื้นที่ใช้สอย ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ปรับปรุงดูแลให้อาคารที่ทำการพัสดุอยู่ในสภาพดี สามารถรักษาคุณค่าทางสถาปัตยกรรมเอาไว้ได้ และเป็นตัวอย่างอาคารแบบโมเดิร์นยุคแรกๆ ของประเทศ

 

Warehouse of the Store Department, State Railway of Thailand

Location Rama I Road, Khwaeng Rong Mueang, Khet Pathumwan, Bangkok

Architect / Designer Luang Sukwatsunthon, an architect of Department of the Royal State Railways of Siam

Proprietor State Railway of Thailand

Date of Construction 1928-1931

Conservation Awarded 2006

History

Previously warehouse buildings of Department of the Royal State Railways of Siam were scattered in different places. The centralized storing warehouse; consequently, was established at Yot Se area in 1928 and officially opened on 16 November 1931. During the Second World War, Department of the Royal State Railways’ office was severely destroyed and then was moved to this building. Later in 1951, extensions were added to north building and south building to become 3-storey storages, resembling the front building in the west. All three buildings at present serve as offices for various departments of State Railway of Thailand in which a large concrete parking area was situated in the middle. The warehouse represents U-shape plan in Modern architecture, whose structurewas composed of ferro concrete beams and columns. The west building has hipped roof while the north building and the south building apply a mixture of flat concrete and hiped roof, all of which are mounted by roof vents. The distinguished feature of this warehouse is the use of exposed brick masonry on all exterior walls, except for the wooden walls in the second and third floors of the west building. Besides, there are corridors lying parallel to the front and the rear of these buildings. The State Railway of Thailand has continually maintained the decent conditionof this warehouse. As a result, its historical value as one of the earliest modern architecture of Thailand has been preserved to endurably remain.