พระวิหารลายคำสุชาดา วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม จังหวัดลำปาง
พระวิหารลายคำสุชาดา วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม จังหวัดลำปาง
พระวิหารลายคำสุชาดา วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม
รางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทอาคาร
ปูชนียสถานและวัดวาอาราม
ที่ตั้ง วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมืองจังหวัดลำปาง
สถาปนิก/ผู้ออกแบบ ไม่ปรากฏหลักฐาน
ผู้ครอบครอง วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม
ปีที่สร้าง ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างที่แน่ชัด
ปีที่ได้รับรางวัล พ.ศ. 2560
ประวัติเพิ่มเติม
วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม ตั้งอยู่บนเนินดินสูง สร้างขึ้นเมื่อพุทธศักราช 1223 สมัยพระเจ้าอนันตยศ เดิมมีนามว่า “วัดพระแก้วดอนเต้า” หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “วัดพระแก้ว” เนื่องจากเคยเป็นสถานที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตในสมัยพระเจ้าสามฝั่งแกนเป็นเวลานานถึง 32 ปี ก่อนที่จะย้ายไปประดิษฐาน ณ เมืองเชียงใหม่ในพุทธศักราช 2011 สมัยพระเจ้าติโลกราช วัดพระแก้วดอนเต้าได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2500 ต่อมาในพุทธศักราช 2527 ได้รวมวัดพระแก้วดอนเต้ากับวัดสุชาดาราม ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของวัดพระแก้วดอนเต้าอีกวัดหนึ่งให้เป็นวัดเดียวกัน แล้วเรียกวัดแห่งนี้ใหม่ว่า วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม สำหรับพระวิหารลายคำสุชาดา สันนิษฐานว่าสร้างโดยเจ้าวรญาณรังษี เจ้าผู้ครองนครลำปาง ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 24 – ต้นพุทธศตวรรษที่ 25 จากแผ่นป้ายไม้ที่ติดอยู่บริเวณหน้าบันภายในพระวิหารก็มีการกล่าวถึงประวัติของพระวิหารหลังนี้ ความว่า “วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ พ.ศ. ๒๔๖๓ จ.ศ. ๑๒๘๒ ปีวอก เดือน ๕ เหนือ ขึ้น ๘ ค่ำ ศรัทธาส่างอะริยะ แม่คำศุข แม่บัวคำและบุตร์ทุกคนได้สละทรัพยสร้างพระวิหารฺ โบสถฺ กำแพงฺ กุฏิ ได้ยกถวายเป็นทานเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๕ จ.ศ. ๑๒๘๔ ปีจอเดือน ๘ เหนือ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ได้บริจาคทรัพย์ รวมทั้งสร้างพระเจดีย์เป็นเงิน ๓๙๓๔๐ บาท” จากประวัติที่เขียนอยู่บนแผ่นป้ายนี้ ตรงกับสมัยเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต เจ้าผู้ครองนครลำปางองค์ต่อ ๆ มา หากประวัติที่กล่าวว่าพระวิหารหลังนี้สร้างโดยเจ้าวรญาณรังสีจริงนั้น แสดงว่าในสมัยเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต ได้มีผู้ศรัทธา(แม่คำศุข แม่บัวคำและบุตรทุกคน) ร่วมกันบูรณปฏิสังขรณ์พระวิหารใหม่ ปัจจุบัน พระวิหารลายคำสุชาดาใช้เป็นที่ทำบุญตักบาตร เจริญวิปัสสนากรรมฐาน และเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมของช่างในอดีตที่ยังคงรักษาอนุรักษ์รูปแบบเดิมซึ่งเหลือเพียงไม่กี่แห่งในจังหวัดลำปาง
พระวิหารลายคำสุชาดา เป็นอาคารชั้นเดียวยกพื้นครึ่งปูนครึ่งไม้ กว้าง 12 เมตร ยาว 27 เมตร ด้านหน้าหันไปทางทิศตะวันออก โครงสร้างพระวิหารเป็นแบบ “ม้าตั่งไหม” ที่มีการถ่ายทอดน้ำหนักจากหลังคาวิหารลงมาตามส่วนของขื่อต่าง ๆ ลงสู่เสาและหลังคาปีกนกด้านล่าง 2 ข้าง ซึ่งเป็นลักษณะอาคารที่จำเพาะกับกษัตริย์หรือเจ้าเมือง ส่วนของหลังคาเป็นการยกซ้อนของไม้เป็นสามชั้นสามระดับ เพื่อประกอบเป็นหลังคาของห้องประธาน ส่วนหน้าซ้อนสามชั้น และส่วนหลังซ้อนกันเป็นสองชั้น มีเสารองรับหลังคาทั้งหมด การประกอบส่วนของหลังคาทั้งหมดใช้ลิ่มไม้เป็นตัวยึด ไม่มีการใช้ตะปู เสาและขื่อเขียนลายทองในเป็นที่มาของชื่อวิหารลาย(ทอง)คำ ขื่อและโครงรับจั่วหลังคาซ้อนกันเหมือนวางซ้อนเก้าอี้ หลังคาไม่มีเพดานทำให้เห็นกระเบื้องดินเผา พื้นที่ภายในพระวิหารแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนประธานเป็นส่วนที่ประดิษฐานพระพุทธสีหะเชียงแสน ระหว่างห้องประธานและส่วนหน้ามีฝาปิด ตามเสาและขื่อลงรักดำ (ฮัก) และชาด (หาง) ปิดทองเป็นลวดลายพรรณพฤกษา ฝาผนังเป็นเรื่องราวในชาดก และเรื่องนรก ส่วนหลังคาลาดต่ำ หน้าต่างด้านขวาแคบเล็ก หน้าต่างด้านซ้ายเป็นลูกกรงลูกมะหวด การทำหน้าต่างแคบในลักษณะเช่นนี้เพื่อรักษาความอบอุ่นของอาคารในหน้าหนาว ด้านหน้าประกอบด้วยราวบันได และสิงห์ปูนปั้นคู่ประดับเหนือบานประตู
พระวิหารลายคำสุชาดา ถือเป็นตัวอย่างสำคัญของการอนุรักษ์ศาสนสถานที่ทรงคุณค่าทางด้านศิลปะที่สะท้อนภาพวิถีชีวิตแบบล้านนา และวัฒนธรรมของภาคเหนือได้เป็นอย่างดี สามารถรักษาองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมของพระวิหารซึ่งมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวเอาไว้ได้อย่างน่าชื่นชม