มัสยิดรายาสายบุรี

มัสยิดรายาสายบุรี

รางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น

ประเภทปูชนียสถานและวัดวาอาราม

ที่ตั้ง ถนนบวรวิถี ตำบลตะลุบัน อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี

สถาปนิก/ผู้ออกแบบ ไม่ปรากฏชื่อผู้ออกแบบ ระบุเพียงเป็นช่างชาวมินังกาเบา ประเทศอินโดนีเซีย

สถาปนิกผู้ออกแบบอนุรักษ์/ปรับปรุง กรมศิลปากรที่ 13 สงขลา

ผู้ครอบครอง คณะกรรมการมัสยิด และเทศบาลตำบลตะลุบัน

ปีที่สร้าง ประมาณพุทธศักราช 2428

ปีที่ได้รับรางวัล  พ.ศ. 2561

ประวัติเพิ่มเติม
ความคิดเห็นจากคณะกรรมการ

“เป็นตัวอย่างการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมมัสยิดในภาคใต้ของประเทศไทย ที่สามารถฟื้นฟูทั้งสภาพอาคารและการใช้งานดั้งเดิม ให้เป็นประโยชน์กับชุมชนในปัจจุบัน ด้วยความร่วมมือของหลายหน่วยงานราชการและชุมชนท้องถิ่น”

พระยาสายบุรี (หนิแปะ) หรือพระยาสุริยสุนทรบวรภักดีฯ เจ้าเมืองสายบุรี (ตะลุบัน) คนแรก ได้สร้างวังเป็นที่พักอาศัยและสร้างมัสยิดมีชื่อว่า”มัสยิดรายอ” เป็นมัสยิดประจำราชวงศ์ ประจำเมือง และเป็นที่ฝังศพของคนในราชตระกูลสายบุรีด้วย โดยเมื่อแรกสร้างมีเพียงตัวอาคารมัสยิดและศาลาพักรอ ภายหลังประมาณก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีการรื้อศาลาออก ขยายระเบียงรอบ ๆ มัสยิด และสร้างระเบียงทางเข้ามัสยิดโครงสร้างและหลังคาคอนกรีตเสริมเหล็กแทนศาลาที่รื้อไป แต่การต่อเติมอาคารในครั้งนั้นเกิดความผิดพลาดในด้านโครงสร้างทำให้หลังคาระเบียงทางเข้าพังลงมาและไม่อาจแก้ไขได้ หลังจากนั้น มีการสร้างมัสยิดใหม่มีชื่อว่า “มัสยิดตะลุบัน” ทดแทน และมัสยิดรายอก็ถูกปล่อยร้าง ต่อมากรมศิลปากรประกาศให้มัสยิดรายอเป็นโบราณสถานเมื่อพุทธศักราช 2544 และในพุทธศักราช 2549 กรมศิลปากรและเทศบาลตำบลตะลุบันได้ร่วมกันสำรวจ รังวัด บันทึก และจัดทำแผนอนุรักษ์ตามหลักวิชาการ โดยปรับปรุงฟื้นฟูนั้นทำให้สามารถรักษารูปแบบทางสถาปัตยกรรมเหมือนกับมัสยิดเมื่อแรกสร้าง มีการฉาบผนังใหม่ด้วยปูนหมักปูนตำแบบดั้งเดิม เปลี่ยนไม้โครงสร้างที่ผุออกไป สร้างศาลาพักรอด้านหน้าขึ้นใหม่อีกครั้ง และทางเทศบาลตำบลตะลุบันได้เข้ามาเพิ่มห้องน้ำและรับเป็นผู้ดูแลมัสยิดร่วมกับกรรมการมัสยิด ปัจจุบัน มัสยิดรายอใช้ประกอบศาสนกิจและเป็นที่ตั้งของสภาวัฒนธรรมตำบลตะลุบัน

มัสยิดรายอ เป็นอาคารแบบ นูซันตารา (Nusantara) สายมลายูตะวันออก(Senibina Melayu Timur) รูปแบบนิยมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย และรัฐกลันตัน รัฐตรังกานู ประเทศมาเลเซีย เป็นอาคารชั้นเดียว กำแพงรับน้ำหนัก หลังคาโครงสร้างไม้มุงด้วยกระเบื้องดินเผา พื้นที่ภายในแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ โถงละหมาด ระเบียงรอบ และศาลารอละหมาด มัสยิดมีการประดับประดาไม่มากนัก แต่ที่ยอดหลังคา (Mahgota Atap) เป็นปูนปั้นครอบไหบูดู ยอดประดับด้วยลูกแก้วที่ใช้ในการประมงให้ความโดดเด่นพิเศษจากทั่วไป

มัสยิดรายอ ได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่การปรับปรุงฟื้นฟูครั้งใหญ่ที่ผ่านมา ทำให้สามารถรักษาคุณค่าทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมเอาไว้ได้อย่างน่าชื่นชม นอกจากนี้ มัสยิดรายอ ยังเป็นส่วนสำคัญของผังเมืองโบราณสายบุรีที่ประกอบด้วย วัง มัสยิด ลานเมือง และตลาด ซึ่งยังมีอยู่ครบสมบูรณ์