ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอี๊ยะเซ้งกงษี

ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอี๊ยะเซ้งกงษี

รางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น

ประเภทอาคารพาณิชย์

ที่ตั้ง บ้านเลขที่ 403, 405, 776 และ 778 ถนนเจริญกรุง เขตป้อมปรามศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร

สถาปนิก/ผู้ออกแบบ/อนุรักษ์/ปรับปรุง นายปริญญา สมบัติวัฒนกุล

ผู้ครอบครอง สภากาชาดไทย

ปีที่สร้าง ประมาณพุทธศักราช 2476

ปีที่ได้รับรางวัล  พ.ศ. 2561

ประวัติเพิ่มเติม
ความคิดเห็นจากคณะกรรมการ

“โดดเด่นในการเก็บรักษากิจกรรมการค้าดั้งเดิมและมีการใช้สอยพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ควรอนุรักษ์ซ่อมแซมเพิ่มเติมในส่วนที่ชำรุด”

ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอี๊ยะเซ้งกงษี ก่อตั้งโดยนายบักเกว้ง แซ่เตีย เมื่อพุทธศักราช 2464 ในช่วงปลายรัชกาลที่ 6 แรกเริ่มเดิมทีห้างหุ้นส่วนจำกัด เอี๊ยะเซ้งกงษี เป็นเพียงบ้านไม้ชั้นเดียวเล็ก ๆ บนที่ดินหัวมุมข้างวัดมังกรกมลาวาส เริ่มต้นทำการค้าขายกระดาษไหว้เจ้า ธูปเทียน และนํ้าแข็งไส ต่อมาได้ขยายกิจการโดยนำสินค้าอุปโภค บริโภค และสินค้าทางการเกษตรชนิดต่าง ๆ เข้ามาขายเพิ่มเติม เมื่อกิจการเจริญรุ่งเรืองมากขึ้น นายบักเกว้ง แซ่เตีย และนางสาวแฉ่ง สาขากร (เจ้าของที่ดิน) จึงได้ร่วมกันก่อสร้างอาคารบนที่ดินผืนนี้ ปัจจุบัน บ้านเลขที่ 403 และ 405 ชั้น 1 เป็นร้านค้าปลีก ชั้น 2 และ 3 เป็นที่อยู่อาศัย ส่วนบ้านเลขที่ 776 และ 778 เป็นโกดังสินค้า

อาคารห้างหุ้นส่วนจำกัด เอี๊ยะเซ้งกงษี เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 3 ชั้น บนพื้นที่ 47 ตารางวา รูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นแบบโมเดิร์น (Modern) ลักษณะเด่นทางภายนอกอาคาร คือ การอุปมาอุปมัย อาคารเสมือนเรือสำเภาซึ่งเป็นพาหนะขนส่งสินค้าของชาวจีนตั้งแต่สมัยโบราณ หัวของเรือสำเภาคือบริเวณหัวมุมอาคาร โดยเฉพาะบริเวณระเบียงชั้น 2 ตรงตำแหน่งหัวมุมจะมีลวดลายปูนมากกว่าบริเวณอื่น และเมื่อมองจากภายนอกระเบียงที่ยื่นออกมาจากแต่ละชั้นจะมีมุมองศาความเฉียงที่ไม่เท่ากัน และระยะการยื่นออกมาจากตัวอาคารก็ไม่เท่ากัน เปรียบเสมือนระดับชั้นของเรือสำเภา ส่วนตัวระเบียงลูกกรงคอนกรีตชั้น 2 แต่ละช่วงจะมีเสาคู่เป็นแนวเขตกั้น ซึ่งเสาคู่เปรียบเสมือนเป็นกระโดงเรือ ส่วนระเบียงชั้น 3 และดาดฟ้าจะมีเพียงเสา 1 ต้นเป็นแนวเขตกั้นเท่านั้น ลักษณะเด่นภายในของตัวอาคาร คือ พื้นภายในปูด้วยคอนกรีตรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดซึ่งเป็นความเชื่อแต่โบราณว่าเป็นตัวแทนสัญลักษณ์ของเงินตรา ในแต่ละห้องการวางองศาของสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดไม่เท่ากัน มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้สึกว่าอาคารมีการเคลื่อนไหวเปรียบเสมือนการไหลเวียนของเงินตรา และเรือสำเภาได้ออกสู่ท้องทะเลเพื่อทำการค้าขาย เสาและคานทุกต้นได้รับการลบเหลี่ยมออกทั้งหมดเพื่อป้องกันการวิ่งชนหรือกระแทกของผู้อยู่อาศัย และคนงานในขณะทำการขนย้ายสินค้า หากมองในแง่ของศาสตร์ฮวงจุ้ย เหลี่ยมของเสาเปรียบเสมือนปลายหอกแหลมคมที่พุ่งเข้าใส่ซึ่งมีความเชื่อว่าเป็นเหตุให้มีการทะเลาะเบาะแว้งหรือเกิดการเจ็บป่วยแก่ผู้อยู่อาศัย

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอี๊ยะเซ้งกงษี ได้สืบต่อกิจการค้าปลีกและดูแลรักษาอาคารไว้เป็นอย่างดี ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมของชาวจีนย่านเยาวราช รวมทั้งเป็นแหล่งความรู้เพื่อการศึกษาศาสตร์ทางด้านฮวงจุ้ยอีกด้วย