อาคารหอประชุมเกษตรกลางบางเขน

อาคารหอประชุมเกษตรกลางบางเขน

รางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น

ประเภทอาคารสถาบันและอาคารสาธารณะ

ที่ตั้ง เลขที่ 50 ถนนงามวงศ์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร

สถาปนิกผู้ออกแบบอนุรักษ์/ปรับปรุง อาจารย์ศรุติ โพธิ์ไทร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ฐิติวุฒิ ชัยสวัสดิ์อารี และอาจารย์จตุพล อังศุเวช

ผู้ครอบครอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ปีที่สร้าง วางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 18 เมษายน พุทธศักราช 2497 ก่อสร้างแล้วเสร็จในพุทธศักราช 2500

ปีที่ได้รับรางวัล  พ.ศ. 2561

ประวัติเพิ่มเติม
ความคิดเห็นจากคณะกรรมการ

“มีความแยบยลในการปรับปรุงงานระบบและเปลี่ยนวัสดุ แต่ยังแสดงองค์ประกอบเดิมและไม่เปลี่ยนแปลงรูปแบบ”

อาคารหอประชุมเกษตรกลางบางเขน ได้รับการวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 18 เมษายน พุทธศักราช2497 โดยจอมพล ป. พิบูล สงคราม สร้างแล้วเสร็จในพุทธศักราช 2500 เพื่อใช้เพื่อเป็นสถานที่รับพระราชทานปริญญาบัตรตั้งแต่พุทธศักราช 2500 – 2519 ต่อมามีการต่อเติมอาคารบริเวณพื้นที่ทางเดินข้างส่วนหอประชุมเพื่อใช้เป็นพื้นที่พักคอยและจัดเลี้ยงระหว่างพักการแสดง หลังจากนั้นในพุทธศักราช 2555 – 2556 มีการบูรณะซ่อมแซมอาคารตามหลักวิชาการอย่างเคร่งครัด แบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 ส่วนหลัก ได้แก่ การบูรณะศิลปกรรมลายปูนปั้นประดับหลังคา และการซ่อมแซมและปรับปรุงองค์ประกอบสถาปัตยกรรมที่ชำรุดเสียหายให้เหมาะสมกับการใช้งานโดยไม่ส่งผลกระทบต่อรูปแบบศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมดั้งเดิม ประกอบด้วย การซ่อมแซมหลังคาและมุงกระเบื้องใหม่ การซ่อมแซมและตกแต่งพื้นที่ภายในอาคารทั้งหมด และเปลี่ยนระบบปรับอากาศให้มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงภูมิสถาปัตยกรรมโดยรอบอาคารให้เหมาะสมกับการใช้งานอีกด้วย

อาคารหอประชุมเกษตรกลางบางเขน เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก เสาเข็มซุงไม้เนื้อแข็งยาว 17 เมตร อาคารกว้าง 59.40 เมตร ยาว 64.55 เมตร และสูง 24 เมตร รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบไทยประเพณีประยุกต์ผสมผสานลักษณะของสถาปัตยกรรมตะวันตกแนวนีโอ-คลาสสิค ในยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองระหว่างพุทธศักราช 2475 – 2500 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองและการพัฒนาประเทศสู่ความทันสมัย (Modernization) อาคารมีความเรียบง่าย ตรงไปตรงมา เน้นประโยชน์ใช้สอย ลดการประดับประดาหรือตกแต่งด้วยองค์ประกอบที่มีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ มีลักษณะสมมาตร มีทางเข้าออก 3 ด้าน ทางเข้าหลักอยู่ทางด้านหน้าอาคารฝั่งตะวันออกที่เชื่อมกับสระน้ำ ด้านหน้าหอประชุมเป็นอาคาร 3 ชั้น ที่เรียงลำดับความเป็นส่วนตัวจากชั้นล่างขึ้นชั้นบน พื้นที่ชั้น 1 เป็นพื้นที่รองรับกิจกรรมกึ่งสาธารณะ ประกอบด้วยห้องประชุมใหญ่ 500 ที่นั่ง ห้องนิทรรศการหมุนเวียน หอประวัติ และห้องรับรองขนาดเล็ก 2 ห้อง ตั้งอยู่ทั้ง 2 ด้านของห้องประชุมใหญ่ พื้นที่ชั้น 2 ประกอบด้วยห้องประชุม ห้องพิธีการ ห้องจัดเลี้ยง และทางเข้าบริเวณชั้นลอยของห้องประชุมใหญ่ชั้น 1 ส่วนพื้นที่ชั้น 3 เป็นพื้นที่รับรองพระบรมวงศานุวงศ์และเจ้านายชั้นสูงประกอบด้วย ห้องที่ประทับ 2 ห้อง และห้องรับรองผู้ติดตามส่วนพระองค์ 2 ห้อง

อาคารหอประชุมเกษตรกลางบางเขน เป็นตัวอย่างของการอนุรักษ์ยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศไทยที่ให้ความสำคัญกับการรักษาคุณค่าทางศิลปกรรม คุณค่าทางสถาปัตยกรรม คุณค่าทางวิชาการ และคุณค่าทางสังคม ทำให้อาคารสามารถรักษาบทบาทการเป็นศูนย์รวมและเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้อย่างน่าชื่นชม