อาคารควรค่าแก่การอนุรักษ์

อาคารตึกแถวริมถนนมหาราช บริเวณท่าเตียน

อาคารตึกแถวริมถนนมหาราช บริเวณท่าเตียน

ที่ตั้ง ถนนมหาราช แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

สถาปนิก / ผู้ออกแบบ สถาปนิกผู้ออกแบบ: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมตอมรพันธุ์

                                  สถาปนิกผู้บูรณะ: นายชวลิต ตั้งมิตรเจริญ และนางสาวกรกมล ตันติวานิช

ผู้ครอบครอง สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

ปีที่สร้าง พุทธศักราช 2454

ประวัติ

พื้นที่บริเวณท่าเตียนในอดีตเป็นพื้นที่การค้าที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ เป็นสถานที่รวบรวมสินค้าที่ขนส่งทางเรือจากทั่วประเทศมาค้าขายในพื้นที่ อีกทั้งเป็นแหล่งศูนย์กลางการสัญจรทางเรือที่สำคัญ ได้แก่ ท่าเรือเมล์แดงรับส่งผู้โดยสารตั้งแต่ท่าเตียน – ปากน้ำโพ ท่าเรือเมล์เขียวรับส่งผู้โดยสารตั้งแต่ท่าเตียน – นครสวรรค์ และท่าเรือยนต์ข้ามฝากท่าเตียนซึ่งเป็นท่าเรือยนต์เพียงแห่งเดียวที่สามารถข้ามจากฝั่งพระนครไปยังวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร (วัดอรุณ) สำหรับตลาดท่าเตียนที่อยู่ในที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ประกอบไปด้วยอาคาร 3 ส่วน คือ อาคารตึกแถวริมถนนมหาราช จำนวน 55 คูหา เป็นตึกแถวที่มี 3 ด้านเป็นรูปตัวยู (U) ล้อมรอบตลาด 1 หลัง และตึกแถวริมน้ำรูปตัวไอ (I) โดยผู้เช่าได้ใช้อาคารเป็นที่พักอาศัยและประกอบการค้าเรื่อยมา จนกระทั่งในพุทธศักราช 2555 – 2558 สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้ดำเนินการปรับปรุงฟื้นฟูอาคารรูปตัวยู และได้ส่งมอบอาคารคืนให้แก่ผู้เช่าเดิมเพื่อใช้เป็นที่พักอาศัยและประกอบการค้าเหมือนเช่นในอดีตที่ผ่านมา ทำให้ระบบเศรษฐกิจ ภาพลักษณ์ และสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ดีขึ้น

อาคารตึกแถวริมถนนมหาราช บริเวณท่าเตียน จำนวน 55 คูหา แต่ละคูหาแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ด้านหน้าเป็นอาคารสูง 2 ชั้น พื้นที่ชั้นล่างใช้ประกอบการค้า มีประตูบานเฟี้ยมไม้เปิดได้กว้างตลอด พื้นที่ชั้นบนเป็นที่พักอาศัย ส่วนด้านหลังอาคารเป็นอาคารชั้นเดียวใช้ประกอบการค้า พื้นที่ระหว่างอาคารทั้ง 2 หลังจัดแบ่งเป็นห้องน้ำและลานซักล้าง รูปแบบสถาปัตยกรรมของอาคารเป็นแบบนีโอคลาสสิค ผนังก่ออิฐถือปูนหนารับน้ำหนัก มีการตกแต่งผนังเซาะร่องคล้ายการเรียงหิน (rustication) ทั้งชั้นล่างและชั้นบน เสาหน้ามุขตกแต่งเป็นเสาทรงเหลี่ยมบริเวณซุ้มชั้นบนในขณะที่ชั้นล่างเป็นเสากลมหัวเสาตกแต่งแบบดอริก มีการเน้นคูหาตรงกลางด้วยการยื่นระเบียงมุข มีการทำหน้าจั่วตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้น (เรียก “ซุ้มสกัดตัดตอน”) ที่ท่าเตียนมีการเน้นอาคารตรงกลางแถวเป็นซุ้มเพียงคูหาเดียว แต่มีการเน้นแบบเดียวกันกับแนวตึกแถวทั้ง 3 ด้าน ซุ้มคูหานี้ชั้นล่างเปิดโล่งใช้เป็นทางเข้าตลาด เรียก “ช่องโพรง” หน้าจั่วเป็นรูปสามเหลี่ยม (pointed) ยกเชิงเช่นกัน ชั้นบนเป็นห้อง ช่องแสงของหน้าต่างชั้นบนเป็นรูปโค้งครึ่งวงกลมขนาดใหญ่ มีการทำกรอบหน้าต่างที่ซับซ้อน กล่าวคือมีซุ้มโค้งใหญ่เป็นกรอบภายนอก ภายในซุ้มแบ่งเป็นชุดหน้าต่างสองชุดเหมือนกัน ที่ซุ้มใหญ่ตกแต่งด้วยปูนปั้นวงกลมมีลวดลายเป็นช่องลม ช่องแสงเหนือหน้าต่างบานเล็กเป็นไม้คล้ายรูปพัดแกะสลักอย่างประณีตสวยงาม

อาคารตึกแถวริมถนนมหาราช บริเวณท่าเตียน เป็นตัวอย่างของการอนุรักษ์ที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของผู้เช่าอาคาร จึงเปิดโอกาสให้ผู้เช่าอาคารมีส่วนร่วมในการออกแบบพื้นที่การใช้สอยภายในอาคารของตนเอง เพื่อที่ผู้เช่าสามารถใช้ประโยชน์จากอาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพ และตรงต่อรูปแบบการใช้งานมากที่สุด โดยรูปแบบสถาปัตยกรรมภายนอก ได้รับคำแนะนำถึงรูปแบบ เทคนิค และวิธีการอนุรักษ์จากผู้ทรงคุณวุฒิในด้านงานอนุรักษ์ และจากกรมศิลปากรเพื่อให้เป็นไปตามหลักวิชาการที่ถูกต้อง และเหมาะสมกับสภาพของอาคาร