อาคารควรค่าแก่การอนุรักษ์

พุทธาวาส วัดภคินีนาถวรวิหาร

พุทธาวาส วัดภคินีนาถวรวิหาร

ที่ตั้ง เลขที่ 295 ถนนราชวิถี 21 แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 

สถาปนิก / ผู้ออกแบบ ไม่ปรากฏชื่อผู้ออกแบบ 

ผู้ครอบครอง วัดภคินีนาถวรวิหาร 

ปีที่สร้าง สมัยรัชกาลที่ 2 

ประวัติ 

วัดภคินีนาถวรวิหาร เป็นวัดโบราณ เดิมชื่อ วัดบางจาก ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาตรงปากคลองบางจากฝั่งซ้าย เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วัดนอก ด้วยมีวัดอื่นอยู่ถัดเข้าไป เช่น วัดทอง และวัดสิงห์ วัดภคินีนาถวรวิหาร สร้างเมื่อพุทธศักราช 2200 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อพุทธศักราช 2325 ในรัชสมัยรัชกาลที่ 2 สมเด็จเจ้าฟ้าประไพวดี กรมหลวงเทพยวดี ราชธิดาองค์ที่ 9 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งพระอาราม และเปลี่ยนพระอุโบสถเดิมเป็นพระวิหาร ทรงสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ และสร้างพระระเบียงวิหารคด พระประธานในพระอุโบสถ พระพุทธรูปปูนปั้น กุฏิสงฆ์ และพระเจดีย์ พระราชทานนามว่า วัดภคินีนาถ แปลว่า วัดของพระน้องนาง 

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านเสนาสนะและสิ่งก่อสร้างที่สำคัญในวัดได้รับการดูแลรักษาไว้เป็นอย่างดี สำหรับเขตพุทธาวาสประกอบด้วย 

1. พระอุโบสถ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคามุงกระเบื้อง ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ มีทวยรองรับหลังคาปีกนกรอบพระอุโบสถ หน้าบันด้านหน้าและด้านหลังจำหลักลาย ลงรักปิดทอง ประดับกระจก ซุ้มประตูหน้าต่างเป็นซุ้มปูนปั้นทรงเรือนแก้ว บานประตูหน้าต่างด้านนอกเป็นลายรดน้ำพุ่มข้าวบิณฑ์ ผนังภายในมีภาพเครื่องบูชาแบบจีน เพดานมีรูปค้างคาวรุมล้อมลูกไม้ฉลุลายทองล่องชาด ผนังบริเวณเหนือหน้าต่างมีลายดอกไม้ร่วงระบายสีศิลปะแบบจีน ระดับต่ำลงมามีลายเครื่องบูชาของจีน เช่น แจกันดอกไม้ เครื่องลายคราม และถ้วยชาม เป็นต้น บานประตูหน้าต่างมีกรอบภาพพงศาวดารจีนติดอยู่โดยรอบพระอุโบสถ ด้านหลังพระอุโบสถติดผนังด้านนอก มีพระพุทธรูปยืนทรงเครื่องปางห้ามสมุทร 4 องค์ แกนในเป็นหินทรายสีแดง ประดิษฐานอยู่บนแท่นเดียวกัน พระประธานในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดหน้าตักกว้าง 2.50 เมตร สูง 3.50 เมตร 

2. พระระเบียง ล้อมพระอุโบสถ มีประตู 4 ด้าน ซุ้มประตูเป็นหลังคามุขลด 2 ชั้น หน้าบันเป็นลายปูนปั้น เสาระเบียงทรงเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง มีหัวเสาเป็นบัวแวง เพดานฉลุลายทองค้างคาวล้อมลูกไม้ล่องชาด ภายในก่ออิฐถือปูนยกเป็นอาสนะสูงประมาณครึ่งเมตร ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยจำนวน 80 องค์ 

3. กุฏิไม้ ลักษณะเป็นเรือนไทยแฝดชั้นเดียว โดยมีชานและหลังคาเชื่อมระหว่างเรือนทั้ง 2 หลัง