อาคารควรค่าแก่การอนุรักษ์

อาคารสถานีรถไฟเชียงใหม่

อาคารสถานีรถไฟเชียงใหม่

ที่ตั้ง ถนนเจริญเมือง ตำบลวัดเกตุ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

สถาปนิก / ผู้ออกแบบ หม่อมเจ้าโวฒยากร วรวรรณ

ผู้ครอบครอง การรถไฟแห่งประเทศไทย

ปีที่สร้าง พ.ศ. 2490 – 2491

ปีที่ได้รับรางวัล พ.ศ. 2549

ประวัติ

ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 อาคารสถานีรถไฟเชียงใหม่หลังเดิม ได้ถูกเครื่องบินบี 24 ทิ้งระเบิดพินาศสิ้นเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2486 หลังจากนั้น กรมรถไฟหลวงได้ดำเนินการออกแบบและจัดสร้างอาคารสถานีรถไฟเชียงใหม่หลังปัจจุบันขึ้น อาคารได้รับการออกแบบโดยหม่อมเจ้าโวฒยากร วรวรรณ ในปี พ.ศ. 2489 ซึ่งปรากฏข้อความในแบบพิมพ์เขียวอาคารสถานีรถไฟเชียงใหม่ว่า ลอกจากแบบเดิม 12 ม.ค.2589 ชำรุด อาคารสถานีรถไฟเชียงใหม่หลังนี้เปิดใช้งานในปี พ.ศ. 2491

ผังพื้นของอาคารสถานีรถไฟเชียงใหม่เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนด้านทิศตะวันตกเป็นอาคาร 2 ชั้นผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าประกอบด้วยห้องจำหน่ายตั๋ว ห้องทำงานของนายสถานีและพนักงานการรถไฟ ส่วนด้านทิศตะวันออกประกอบด้วยส่วนทำงานเจ้าหน้าที่ ห้องรับรอง ห้องน้ำ ห้องฝากสัมภาระและหอนาฬิกา ซึ่งเป็น

จุดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของสถานีรถไฟแห่งนี้ และส่วนกลางอาคารเป็นโถงพักคอยซึ่งเชื่อมต่อส่วนตะวันตก ส่วนตะวันออก และชานชาลาเข้าไว้ด้วยกัน รูปแบบสถาปัตยกรรมอาคารสถานีรถไฟเชียงใหม่เป็นอาคารก่ออิฐฉาบปูนแบบไทยภาคกลางประยุกต์ เช่น การใช้ตัวเหงาปั้นลมที่หลังคา ใช้หลังคาจัตุรมุขซ้อนชั้นบริเวณหอนาฬิกา รวมไปถึงการประดับตกแต่งส่วนรายละเอียดบริเวณเสา บัวหัวเสา เป็นต้น ผสมกับรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกในการออกแบบผังอาคารตามประโยชน์ใช้สอย และการใช้ผนังชั้นบนของอาคารด้านทิศตะวันตกรูปแบบฮาฟ ทิมเบอร์ (Half timber)

การรถไฟแห่งประเทศไทยได้มีการต่อเติมและปรับเปลี่ยนพื้นที่ใช้สอยอาคารสถานีเชียงใหม่ โดยปรับผังพื้นอาคารให้ต่างไปจากแบบที่หม่อมเจ้าโวฒยากร วรวรรณ ทำการออกแบบไว้เล็กน้อยและได้เพิ่มอาคารที่ใช้เป็นพื้นที่สำหรับร้านอาหารและห้องน้ำภายในบริเวณอาคารสถานี โดยอาคารที่ทำการก่อสร้างเพิ่มเติมก็ได้รับการออกแบบให้มีรูปแบบที่สอดคล้องและกลมกลืนกับอาคารเดิม นอกจากนี้อาคารสถานีรถไฟเชียงใหม่ยังได้รับการอนุรักษ์รูปแบบอาคารเดิมไว้รวมไปถึงการบำรุงรักษาอาคารให้ใช้งานได้สะดวกและอยู่ในสภาพดีเสมอเพื่อคงอยู่เป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของสถานีปลายทางในการเดินทางบนเส้นทางรถไฟสายเหนือตลอดไป

Chiang Mai Railway Station Building

Location Charoenmueang Road, Tambon Wat Ket, Amphoe Mueang, Chiang Mai Province

Architect / Designer M.C. Wothayakon Worawan

Proprietor State Railway of Thailand

Date of Construction 1947-1948

Conservation Awarded 2006

History

The previous railway station of Chiang Mai was devastated during the Second World War; hence the new railway station was designed by Professor Mom Chao Wothayakon Worawan in 1946 and officially opened in 1948.

The plan was divided in to three parts. Ticket office, station master and administrator office are in the west side. Operational area, reception, restrooms, luggage storage and a prominent icon “clock tower” are located in the east while the central part is a hallway connecting east and west sections and platforms together. This brick masonry train station features the applied Central Thailand style by using Ngoa Pan Lom at the roof, Tetrahedron at the clock tower and detailed decorations at pillars and capitals. Furthermore, Western architecture also influenced the functionality of plan design and half-timber technique was applied to wall surfaces in the upper storey of the west building.

Afterwards, State Railway of Thailand slightly altered Mom Chao Wothayakon’s original plan and extended the area for indoor cafeteria and restrooms. However, the architectural style was still well-maintained and the building has been preserved in proper condition to perpetuate the iconic terminal of Northern line.