อาคารควรค่าแก่การอนุรักษ์

คุ้มเจ้าบุรีรัตน์

คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์)

ที่ตั้ง เลขที่ 117 ถนนราชดำเนิน ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

ผู้ครอบครอง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปีที่สร้าง พ.ศ. 2432 - 2436

ปีที่ได้รับรางวัล พ.ศ. 2548

ประวัติ

คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ เดิมเป็นที่พักอาศัยของเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) หลานของเจ้าหลวงคำฝั้น (เจ้าหลวงเชียงใหม่ องค์ที่ 3) สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ต่อมาเจ้าน้อยชมชื่น ณ เชียงใหม่ บุตรชายเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) ได้รับมรดกตกทอดเป็นผู้ครอบครองคุ้มในระหว่างปี พ.ศ. 2437 – 2489 จนเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2490 นางบัวผัน นิกรพันธ์(ทิพย์มณฑล) ได้ซื้อคุ้มนี้ต่อจากเจ้าบุษบา ณ เชียงใหม่ ภริยาเจ้าน้อยชมชื่น ณ เชียงใหม่ และเป็นมรดกมาจนถึงคุณเรียงพันธ์ ทิพย์มณฑลต่อมาเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2544 ตระกูลกิติบุตรและทิพย์มณฑลได้มอบคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ให้แก่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อใช้เป็นที่ทำการศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา ภายใต้การดูแลและดำเนินงานของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

อาคารคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบเป็นแบบตะวันตกผสมผสานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นล้านนา ลักษณะเป็นอาคาร 2 ชั้น ชั้นล่างก่ออิฐหนาเป็นรูปโค้ง (Arch) ฉาบปูน มีทางเดินโดยรอบอาคาร ชั้นบนเป็นพื้นไม้สักมีระเบียงโดยรอบ ราวระเบียงและลูกกรงเป็นไม้ฉลุลาย บันไดขึ้นชั้นบนตกแต่งด้วยราวบันไดไม้ฉลุ ผนังภายในชั้นบนเป็นไม้ ประตูและหน้าต่างเป็นไม้หลังคาอาคารเป็นแบบปั้นหยาผสมหลังคาจั่วคลุมระเบียงโดยรอบ มุงด้วยกระเบื้องดินขอ

อาคารคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจในการอนุรักษ์มรดกทางประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมที่สำคัญ โดยการปรับเปลี่ยนพื้นใช้สอยภายในอาคารเพื่อการรวบรวม จัดเก็บ จัดแสดง ศึกษาค้นคว้า และเป็นศูนย์กลางที่สำคัญแห่งหนึ่งของภูมิภาคในการเผยแพร่ความรู้แก่นักศึกษา นักวิจัย และผู้สนใจทั่วไปเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมล้านนาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

Khum Chao Burirat (Maha-In)

Location 117 Ratchadamnoen Road, Tambon Si Phum, Amphoe Mueang, Chiang Mai Province

Proprietor Chiang Mai University

Date of Construction 1889-1893

Conservation Awarded 2005

History

Khum Chao Burirat, constructed during the reign of King Rama V, was originally a residence for Chao Burirat (Maha-In), a grandson of Chao Luang Khamfan (the third ruler of Chiang Mai). The building was later inherited to Chao Noi Chomchuen Na Chiang Mai, a son of Chao Burirat, from 1894 to 1946 before Chao Butsaba Na Chiang Mai, a wife of Chao Noi Chomchuen, selling it toMrs. Buaphan Nikonphan (Thipmonthon) in 1947. The house became an inheritance of Thipmonthon family until Riangphan Thipmonthon and Kitibut family gave this building to Chiang Mai University on 9th March 2001 to serve as the office of Lanna Architecture Center under the control of Faculty of Architecture, Chiang Mai University.

Combining Western and Traditional Lanna architectures, Khum Chao Burirat is a 2-storey building whose ground floor was built of thick cemented bricks in arch form and surrounded by passageways. The upper floor features teak floors as well as wooden walls, doors and windows. Balconies encircle the upper floor in which railings, balustrades and balusters are wooden openwork. Hip and gable roofs made of terracotta tiles cover the balconies all through.

Khum Chao Burirat represents a determination to preserve the significant historical heritage by adapting the building’s functional areas for researching, compiling and exhibiting information to serve as a knowledge hub for students, researchers and general public interested in Lanna architecture.