อาคารควรค่าแก่การอนุรักษ์

พระอุโบสถวัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร

พระอุโบสถวัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร

ที่ตั้ง แขวงวัดเทพศิรินทร์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร

สถาปนิก / ผู้ออกแบบไม่ปรากฏชื่อ

ผู้ออกแบบอนุรักษ์ พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น

ผู้ครอบครอง วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร

ปีที่สร้าง พ.ศ. 2419 ปีที่ได้รับรางวัล พ.ศ. 2555

ประวัติ

วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร ปีที่สร้าง พ.ศ. 2419 ปีที่ได้รับรางวัล พ.ศ. 2555 วัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สร้างวัดขึ้น ในปี พ.ศ. 2419 ขณะพระองค์ทรงมีพระชนพรรษาครบ 25 พรรษาและโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนาวัดขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติและอุทิศพระราชกุศล พร้อมทั้งพระราชทานชื่อพระอารามว่า “วัดเทพศิรินทราวาส” ตามพระนามสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระบรมราชชนนี ซึ่งได้สิ้นพระชนม์ ตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ยังทรงพระเยาว์

ใน พ.ศ. 2439 โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างสุสานหลวง วัดเทพศิรินทราวาสไว้ในวัด ด้วยมีพระราชประสงค์ให้เป็น ฌาปนสถานสำหรับพระราชวงศ์ซึ่งไม่ได้สร้างพระเมรุฯ ที่ท้องสนามหลวง ซึ่งนับเป็นเรื่องพิเศษเพราะโดยปกติแล้วจะไม่มีฌาปนสถานในพระอารามหลวง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สร้างพระเมรุขึ้นเมื่อคราวพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ และใช้เป็นเมรุที่ใช้พระราชทานเพลิงศพตลอดมาจนปัจจุบัน

วัดเทพศิรินทราวาสมีแผนผังคล้ายคลึงกับวัดโสมนัสวิหารและวัดมกุฏกษัตริยาราม พระอุโบสถเป็นอาคารทรงไทย ขนาด 7 ห้อง ด้านหน้ามีเฉลียง มีพาไลโดยรอบอาคาร หน้าบันเป็นแบบกระเท่เซร ก่ออิฐถือปูน ไม่มีไขราหน้าจั่ว ประดับด้วยเครื่องเคลือบเลียนแบบเครื่องลำยอง ภายในกรอบหน้าบันประดับปูนปั้นกระเบื้องเคลือบเป็นรูปจำลองพระมหาพิชัยมงกุฎเปล่งรัศมีอันอยู่เหนือพระเกี้ยวประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า พื้นหน้าบันประดับลวดลายดอกลำเพยเพื่อสื่อถึงพระนามเดิมของพระราชชนนี ซุ้มประตูและหน้าต่าง เป็นซุ้มทรงมงกุฎ เสาเฉลียงและพาไลเป็นเสากลมหัวเสาประดับเครื่องเคลือบแบบบัวกลีบขนุน

ภายในพระอุโบสถ เพดานสลักรูปเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตามพระประสงค์ที่จะให้ตกแต่งวัดนี้ ด้วยเครื่องหมายเช่นเดียวกับที่พบที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ซึ่งเปรียบเสมือน เครื่องแสดงคุณงามความดีในการปฏิบัติงานและบำเหน็จความชอบที่ทรงพระราชทานเพื่อเป็นเกียรติแก่บุคคลต่างๆ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญหลายองค์ เช่น พระนิรันตรายพระพุทธรูปประจำรัชกาลที่ 4 ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีขนาดใหญ่

ในปี พ.ศ. 2553 เป็นวาระครบรอบ 100 ปี แห่งการสวรรคตพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวคณะกรรมการดำเนินงานบูรณปฏิสังขรณ์วัดเทพศิรินทราวาส ได้ดำเนินการการบูรณะถาวรวัตถุและอาคารสำคัญภายในวัด ด้วยแนวทางการบูรณปฏิสังขรณ์ตามหลักวิชาการที่คงไว้ซึ่งการอนุรักษ์โบราณสถานให้มีสภาพงดงามและสอดคล้องกับการใช้งานปัจจุบัน โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนชุมชนโดยรอบ และประชาชนทั่วไป ให้ดำรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม และเป็นสมบัติที่สำคัญของชาติสืบไป

Wat Thepsirintharawas Ratchaworawihan

Location Khwaeng Wat Thepsirin, Khet Pom Prab Sattru Phai, Bangkok

Architect / Designer not find name Conservation Designer Group Captain Awut Ngernchuklin

Proprietor Wat Thepsirintharawas Ratchaworawihan

Date of Construction 1876

Conservation Awarded 2012

History

Wat Thepsirintharawas Ratchaworawihan is a second class royal temple built by King Rama V in 1876 when he reached 25 years old to honor and dedicate to his charity. He named the temple as “Wat Thepsirintharawas” following to the name of his mother who passed away when the King was young.

In 1896, King Rama V ordered to build a Royal Crematorium in the temple for members of the royal family who had no special crematory pavilion on the grounds of Sanam Luang. It is a unique building because there is no crematorium in royal temples before.

The plan of Wat Thepsirintharawas is similar to the plan of Wat Sommanus and Wat Makutkasattariyaram. The main chapel in traditional Thai style is paved with marble and the door and window frames are decorated with lacquered gold leaf. The ceiling is decorated with carvings depicting royal decorations. The gable is decorated with porcelain. Many significant Buddha images are installed in the ordination hall such as Phra Nirantarai, the Buddha image of King Rama IV.

In 2010, it is the 100th anniversary year of the death of King Rama V. Therefore, the committee on restoration of Wat Thepsirintharawas has operated the restoration to maintain the temple in good condition as a valuable temple in the history and architecture of the nation.